วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บทบาทของผู้ฝึกสอนกีฬา



        ผู้ฝึกสอนกีฬา มีลักษณะการทำงานที่ผสมผสานบทบาทหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน คือ 
        1. ผู้นำ ในสถานการณ์ทางการกีฬานั้นเมื่อสมาชิกในทีมต้องการบรรลุเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ดังนั้นผู้ฝึกสอนกีฬาจึงมีหน้าที่ในการสวมบทบาทเป็นผู้นำทีมที่ต้องแสดงความน่าเชื่อถือในการนำทีมไปยังเป้าหมายนั้น เช่น ผู้ฝึกสอนกีฬาที่มีประสิทธิภาพควรต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในทุกสถานการณ์แม้ในยามที่ทีมประสบความล้มเหลวต้องสามารถให้คำชี้แนะกับนักกีฬาของตนเองได้ทั้งในระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขัน ต้องมีความสามารถในการคิดเทคนิคหรือกุศโลบายในการวางแผนการเล่นและมีการสื่อสารที่ดีทั้งในช่วงก่อนการแข่งขันระหว่างการแข่งขันและหลังการแข่งขัน 
        2. ผู้ตาม ผู้ฝึกสอนกีฬาที่ดีต้องรู้ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมว่าช่วงใดไม่ควรเป็นผู้นำซึ่งช่วงที่ไม่ได้เป็น ผู้นำก็ควรเป็นผู้ตามที่ดี เพราะผู้ฝึกสอนกีฬาควรมีความสามารถในการรับฟัง เคารพการตัดสินใจ และรับรู้ความรู้สึกหรือความต้องการของนักกีฬาอย่างจริงใจ 
        3. ครูผู้ฝึกสอนกีฬาที่มีประสิทธิภาพ คือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ได้ดีหรือกล่าวได้ว่า ผู้ฝึกสอนกีฬาที่ดีคือ “ครูที่ดี” นั่นเอง ผู้ฝึกสอนกีฬาต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะกีฬาได้ทำให้นักกีฬาพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์และสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และสามารถประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาในการกีฬา คือ การสอนนักกีฬาให้มีความสามารถในการคิดอย่างอิสระ ซึ่งผู้ฝึกสอนกีฬา มีหน้าที่เพียงเป็นผู้ให้คำแนะนำและตอบสนองต่อความคิดที่สร้างสรรค์ของนักกีฬาโดยไม่คาดหวังต่อการกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักกีฬาต้องการ ผู้ฝึกสอนกีฬาต้องมีความรู้เกี่ยวกับทักษะและกุศโลบายในการเล่นกีฬาและสิ่งสำคัญผู้ฝึกสอนกีฬาต้องมีความสามารถเกี่ยวกับการสื่อสารหรือมีรูปแบบการสอนที่สามารถสื่อให้นักกีฬาเข้าใจ 
        4. ตัวแบบ หมายถึงมาตรฐานหรือการแสดงตัวอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือให้เห็นภาพเพื่อแสดง การเปรียบเทียบ ผู้ฝึกสอนกีฬามักเป็นผู้ที่นักกีฬายึดถือเป็นตัวแบบ เพราะในการสอนทักษะกีฬาต่างๆ ผู้ฝึกสอนกีฬาต้องทำตัวอย่างให้ดูเพื่อให้นักกีฬาปฏิบัติตามหรือแม้แต่แนวทางการดำเนินชีวิต ดังนั้นผู้ฝึกสอน กีฬาควรตระหนักว่าการกระทำทุกอย่างของตนเองมีผลต่อการปฏิบัติตามของนักกีฬาด้วยบทบาทที่มีผลต่อ การลดความน่าเชื่อถือของผู้ฝึกสอนกีฬา เช่น การติดสุรา การใช้ยาที่ผิดกฎหมาย และความต้องการให้นักกีฬาทำทุกอย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์การไม่รักษามาตรฐานในการดูแลนักกีฬาแต่ละคน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการลดความน่าเชื่อถือและทำให้นักกีฬาสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวผู้ฝึกสอนกีฬาได้ 
        5. นักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษา ผู้ฝึกสอนกีฬาเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนักกีฬาและควรต้องเข้าถึง ความรู้สึกและความต้องการของนักกีฬา ต้องสามารถรับฟังและตอบสนองความต้องการของนักกีฬาได้ดังนั้น ผู้ฝึกสอนต้องไม่มีท่าทีหรือวิธีการอันใดที่ส่งผลต่อความคิดหรือความรู้สึกของนักกีฬาให้เกิดขึ้นทางลบโดยต้อง มีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานในการนำเทคนิคการให้คำปรึกษาไปใช้กับนักกีฬาของตนเอง 
        6. ตัวแทนของพ่อแม่ นักกีฬาต้องการใครสักคนที่สามารถดูแลและมีความสำคัญต่อชีวิตพวกเขา ดังนั้นจึงต้องการความรักและความเอาใจใส่อย่างมากจากใครสักคนที่มีอยู่จริง บทบาทของผู้ฝึกสอนกีฬามิใช่ การเป็นพ่อแม่แต่เป็นลักษณะการดูแลเอาใจใส่ที่มีเป้าหมายเหมือนกับเป็นพ่อแม่เท่านั้น คือ การให้ความรัก ความเข้าใจ เอาใจใส่และดูแลนักกีฬาของตนเปรียบเสมือนเป็นลูกของตนเอง บางครั้งผู้ฝึกสอนกีฬาอาจต้องให้การดูแลนักกีฬาที่ไม่ใช่เพียงแต่ในสนามฝึกซ้อมหรือสนามแข่งขันเท่านั้น หากนักกีฬามีปัญหาในการเรียนหนังสือ มีปัญหากับเพื่อนหรือเรื่องอื่นใดก็ตาม ผู้ฝึกสอนกีฬาต้องแสดงบทบาทในการช่วยเหลือเพื่อมุ่งหวังให้นักกีฬาเกิดพฤติกรรมที่ดีในอนาคตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความหมายของจิตวิทยาการกีฬา          ภูษณพาส สมนิล (2558) จิตวิทยาการกีฬาจัดเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่กำลังตื่นตัว และเป็นที่สนใจของวง...